แซนด์วิช เมนูง่ายๆ ที่จะกินรองท้องก็ดีหรือจะกินเป็นจานหลักก็ได้ แน่นอนเราไม่เถียงเรื่องรสชาติกับความสะดวก แต่บทความนี้อยากจะชวนมาดู carbon footprint ที่เกิดจากแซนด์วิชกันบ้าง ซึ่งมีการทำวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Manchester โดยทีมงานได้วิจัยกับแซนด์วิชกว่า 40 แบบที่แตกต่างกันทั้งชนิด สูตร และส่วนผสม
นักวิจัยคำนวณปริมาณ carbon footprint ตลอดช่วงอายุของแซนด์วิช เริ่มตั้งแต่การผลิต ingredient การผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ไปจนถึงการแช่เย็นในซุเปอร์มาร์เก็ต เช่นเดียวกับของเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะตอนกินหรือระหว่าง supply chain
ผลปรากฏว่าการเกษตรและการแปรรูปเพื่อผลิต ingredient นี้ กลายเป็นส่วนที่ปล่อย CO2 ออกมาเยอะที่สุด คิดเป็นถึง 37-67% ของปริมาณ carbon footprint ทั้งหมดที่เกิดจากแซนด์วิช รองลงมาก็คือในขั้นตอนการแช่เย็น ซึ่งปล่อย CO2 ออกมาประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งหมด
แซนด์วิชที่มีปริมาณ carbon footprint มากที่สุด ได้แก่ แซนด์วิชพร้อมเสิร์ฟที่ใส่ไข่ เบคอน กับไส้กรอก ซึ่งมีการปล่อย CO2 ออกมามากถึง 1,441 กรัม หรือถ้าเทียบง่ายๆ ก็เท่ากับปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมาจากรถที่วิ่งไประยะ 19 กิโลเมตร
ส่วนแซนด์วิชที่มีปริมาณ carbon footprint น้อยที่สุดคือ แซนด์วิชสูตรแฮมชีสที่ทำกินเองง่ายๆ ในบ้าน ซึ่งปล่อย CO2 แค่ครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับแซนด์วิชพร้อมเสิร์ฟที่วางขายตามร้าน
สมาคมแซนด์วิชแห่งสหราชอาณาจักร (British Sandwich Association) ประมาณการณ์ว่า ที่ UK นี่กินแซนด์วิชถึงประมาณ 11.5 พันล้านชิ้นทุกปี ซึ่งจะปล่อย CO2 ออกมาปริมาณ 9.5 ล้านตัน เทียบเท่ากับการใช้รถ 8.6 ล้านคันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยได้เสนอแนวทางการลด carbon footprint เอาไว้ ซึ่งอาจลดได้มากถึง 50% เลยทีเดียว โดยใช้แค่การปรับเปลี่ยนสูตร บรรจุภัณฑ์ และลดการเกิดของเสีย และยังแนะนำอีกด้วยว่าควรจะยืด shelf life ออกไปอีกนิดหลังเลย sell-by date ไปแล้ว ซึ่งคาดว่าอาจจะช่วยลดแซนด์วิชที่เป็นของเสียได้มากถึง 2,000 ตันต่อปี
การลดปริมาณหรือไม่ใส่ส่วนผสมบางอย่างที่มีปริมาณ carbon footprint สูงก็พอช่วยได้ เช่น ผักกาด มะเขือเทศ ชีส และเนื้อสัตว์ ซึ่งอย่างหลังนี่นอกจากจะลดปริมาณการปล่อย CO2 ได้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณแคลอรี ซึ่งดีต่อสุขภาพด้วย
Reference:
https://www.sciencedaily.com/releases/2018/01/180125085116.htm